ถอดบทเรียนน้ำมันรั่วจากอ่าวเม็กซิโกถึงอ่าวไทย ตอนที่ 1 : สารก่อมะเร็ง
Share this post on: Twitter Facebook
“จากกรณีท่อรับน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เกิดรั่วไหลน้ำมันดิบลงในทะเลจำนวน 50,000 ลิตรหรือ 50 ตัน เมื่อเช้าวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมาก่อให้เกิดคราบน้ำมันปริมาณมากทะลักเข้าอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ล่าสุด (28 ก.ค. 2556) ทาง PTTGC ได้ประสานไปยังบริษัทออยล์ สปิลเรสปอนส์จำกัด (Oil Spill Response Limited) จากประเทศสิงคโปร์ในการนำเครื่องบินพ่นน้ำยาขจัดน้ำมันคู่ขนานไปกับการใช้เรือพ่นน้ำยาเพื่อเร่งกู้วิกฤติคราบน้ำมันที่ได้ทำลายความสวยงามของธรรมชาติไปแล้วบางส่วน
บทความชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะซ้ำเติมบริษัทผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว หากแต่มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอภัยเงียบในรูปแบบการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยทางผู้เขียนได้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแนวปฏิบัติในการจัดการกับปัญหาเพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการหาทางออกที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
ตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวหลายแห่งทั่วโลก เช่นล่าสุด จากเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท บีพี (BP) ระเบิดกลางอ่าวเม็กซิโก เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2553 ส่งผลให้น้ำมันกว่า 4.9 ล้านบาร์เรลรั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก และชายฝั่ง 5 รัฐของสหรัฐ เจ้าหน้าที่ของบีพีต้องใช้เวลานานถึง 87 วันในการทำความสะอาดคราบน้ำมัน และกู้แท่นขุดเจาะ [1,2,3]
มีการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ที่สูงถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 5.61 แสนล้านบาท ) ซึ่งความเสียหายบางส่วนไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้ เช่น ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อบริษัท บีพี บรรยากาศการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา และการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือที่เรียกกันย่อๆว่าสาร พีเอเอช (PAHs) ในสิ่งแวดล้อม
สารพีเอเอช เป็นกลุ่มสารอินทรีย์ประกอบด้วยวงแหวนเบนซินหลายวงมารวมตัวกันโดยระดับความเป็นพิษจะรุนแรงขึ้นตามจำนวนวงแหวนที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นเช่นรูปแบบของโครงสร้างทางเคมีซึ่งมีส่วนสำคัญต่อฤทธิ์การก่อมะเร็งของสาร พีเอเอช ซึ่งมีมากกว่าร้อยชนิด ปัจจุบันทางสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency: US-EPA) ได้กำหนดสาร พีเอเอช ที่เป็นอันตรายทั้งหมด 16 ชนิด โดยสารที่มีฤทธิ์ในการก่อมะเร็งมากที่สุดคือ เบนโซเอไพรีน (Benzo[a]pyrene)
แหล่งกำเนิดที่สำคัญของสาร พีเอเอช มีอยู่หลากหลายทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ป่า [4] หรือ การระเบิดของภูเขาไฟ [5] รวมทั้งแหล่งกำเนิดจากน้ำมือของมนุษย์เช่น ไอเสียจากยานพาหนะ [6] เขม่าควันจากโรงงานอุตสาหกรรม [7] เตาเผาขยะ [8] การปิ้งย่าง [9] และจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบ [10] ผลการวิจัยพบว่าอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบคือสาเหตุสำคัญในการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ในไข่นกทะเลริมชายฝั่งในคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberia) [11]
นอกจากนี้ยังมีรายงานการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ในปลา striped beakfish จากเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันดิบบริเวณชายฝั่งอุทยานแห่งชาติทะเลแทอัน (Taean) เกาหลีใต้ [12] ยังไม่รวมผลกระทบอื่นๆที่เกิดกับสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกมากมาย คำถามหลายข้อที่ผุดขึ้นมาในสมองของผู้เขียนทันทีที่ได้ทราบข่าวการรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวไทยคือ
1. ปริมาณการตกค้างของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ในอ่าวไทยจากอุบัติเหตุรั่วไหลของน้ำมันดิบมีอยู่เท่าไหร่?
2. เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลในอ่าวไทยอย่างไรบ้าง?
3. การแก้ปัญหาที่ทาง PTTGC กำลังดำเนินการอยู่นั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง?
ตอบคำถามข้อที่ 1 จากการนำเอาค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ในตัวอย่างน้ำมันดิบ 48 ชนิดซึ่งได้จากการทบทวนวรรณกรรมมาคูณกับปริมาณรั่วไหลของน้ำมันดิบ 50 ตัน (ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าตัวเลขนี้ถูกต้องนะครับ!) ปริมาณการตกค้างของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช แต่ละชนิดในอ่าวไทยได้แสดงไว้ในตารางที่ 1
ผลการคำนวณพบว่าปริมาณการตกค้างของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช 16 ชนิดมีค่าอยู่ที่ 35 กิโลกรัม เนื่องจากสารพีเอเอชแต่ละชนิดมีฤทธิ์ในการก่อมะเร็งต่างกันจึงได้มีการนำเอาแนวความคิดของการใช้ค่าสัมประสิทธิ์การเทียบเคียงระดับความเป็นพิษ (Toxicity Equivalency Factor: TEF) โดยกำหนดให้ B[a]P ซึ่งมีฤทธิ์ในการก่อมะเร็งสูงสุดมีค่า TEF เท่ากับ 1 ส่วนตัวพีเอเอชที่เหลือมีฤทธิ์ในการก่อมะเร็งน้อยกว่าค่า TEF จึงต่ำกว่า 1 เช่น Chry มีค่า TEF เท่ากับ 0.01
หมายความว่า B[a]P มีศักยภาพในการก่อให้เกิดมะเร็งมากกว่า Chry 100 เท่าเป็นต้น (1/0.01 = 100) เมื่อนำค่า TEF ของสารพีเอเอชแต่ละชนิดมาคูณกับปริมาณตกค้างของตัวมันเองในอ่าวไทยจะได้ปริมาณการตกค้างใหม่ของสารพีเอเอชแต่ละตัวเมื่อเทียบกับระดับความเป็นพิษของ B[a]P ซึ่งจากการคำนวณผลรวมพบว่ามีค่าอยู่ที่ 138 กรัม ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าตัวเลขนี้คือการประมาณการจากสมมุติฐานที่ว่าปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันดิบมีค่าเพียง 50 ตันเท่านั้นซึ่งในความเป็นจริงตัวเลขนี้อาจสูงกว่าที่ทาง PTTGC ได้คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าค่าการปนเปื้อนของ B[a]P จำนวน 138 กรัมจากการรั่วไหลของน้ำมัน 50 ตันเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์หรือไม่?” เพื่อตอบโจทย์นี้เราจำเป็นที่จะต้องรู้ปริมาตรของน้ำในอ่าวไทยเพื่อนำมาหารกับมวลของ B[a]P เพื่อเปลี่ยนหน่วยให้เป็นระดับความเข้มข้นก่อนที่จะนำมาเทียบกับค่ามาตรฐานสากลซึ่งกำหนดให้ค่าความเข้มข้นของ B[a]P ในน้ำดื่มไม่ควรเกิน 10 นาโนกรัม (หรือ 1/1,000,000,000 กรัม) ต่อลิตร
เมื่อนำเอาพื้นที่ของอ่าวไทย 320,000 ตารางกิโลเมตรมาคูณกับความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทยที่ 45 เมตรแล้วหารกับมวลของ B[a]P จำนวน 138 กรัม จะได้ค่าความเข้มข้นของ B[a]P อยู่ที่ 10 เฟมโตกรัม (หรือ 1/1,000,000,000,000,000 กรัม) ต่อลิตรซึ่งถือว่าเป็นค่าที่น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 1,000,000 เท่า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระดับการปนเปื้อนของสารพีเอเอชในน้ำทะเลจะมีค่าต่ำมากแต่หากพิจารณาถึงขบวนการสะสมสารพิษ ที่จะเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นในห่วงโซ่อาหารหรือ Biomagnification (บางครั้งก็เรียก Bioamplification) ซึ่งมีการรายงานว่าพบปรากฏการณ์ดังกล่าวในสัตว์น้ำทะเลหลายชนิดทั่วโลก [17,18]
ดังนั้น ในระยะยาวสารก่อมะเร็ง พีเอเอชอาจกลายเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมันด้านความปลอดภัยของธุรกิจอาหารทะเลไทยในอนาคตซึ่งทางภาครัฐควรมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ในตอนต่อไปผมจะกลับมาตอบโจทย์ข้อที่ 2 และ 3 เพื่อร่วมกันขบคิดช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศครับ
อ้างอิง :
[1] “BP leak the world’s worst accidental oil spill”. The Daily Telegraph. 3 August 2010. Retrieved 2010-08-15.
[2] Jervis, Rick; Levin, Alan (27 May 2010). “Obama, in Gulf, pledges to push on stopping leak”. USA Today. The Associated Press. Retrieved 3 March 2013.
[3] Robertson, Campbell; Krauss, Clifford (2 August 2010). “Gulf Spill Is the Largest of Its Kind, Scientists Say”. The New York Times (The New York Times Company). Retrieved 2010-08-12.
[4] Vergnoux A., Malleret L., Asia L., Doumenq P., Theraulaz F. 2011. Impact of forest fires on PAH level and distribution in soils. Environmental Research, 111 (2), 193-198.
[5] Schwandner FM., Seward TM., Giże AP., Hall K., Dietrich VJ., 2013. Halocarbons and other trace heteroatomic organic compounds in volcanic gases from Vulcano (Aeolian Islands, Italy). Geochimica et Cosmochimica Acta, 101 (15), 191-221.
[6] Slezakova K., Castro D., Delerue–Matos C., Alvim–Ferraz MC., Morais S., Pereira MC., 2013. Impact of vehicular traffic emissions on particulate-bound PAHs: Levels and associated health risks. Atmospheric Research, 127, 141-147.
[7] Yang HH., Lee WJ., Chen SJ., Lai SO., 1998. PAH emission from various industrial stacks. Journal of Hazardous Materials, 60 (2), 159-174.
[8] Wild SR., Mitchell DJ., Yelland CM, Jones KC., 1992. Arrested municipal solid waste incinerator fly ash as a source of polynuclear aromatic hydrocarbons (PAHs) to the environment. Waste Management & Research, 10 (1), 99-111.
[9] Chen JW, Wang SL, Hsieh DPH., Yang HH., Lee HL., 2012. Carcinogenic potencies of polycyclic aromatic hydrocarbons for back-door neighbors of restaurants with cooking emissions. Science of The Total Environment, 417–418, 68-75.
[10] Yim UH., Oh JR., Hong SH., Lee SH., Shim WJ., Shim JH., 2002. Identification of PAHs Sources in Bivalves and Sediments 5 Years After the Sea Prince Oil Spill in Korea. Environmental Forensics, 3 (3–4), 357-366.
[11] Vidal M., Domínguez J., Luís A., 2011. Spatial and temporal patterns of polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) in eggs of a coastal bird from northwestern Iberia after a major oil spill. Science of The Total Environment, 409 (13), 2668-2673.
[12] Lee HJ, Shim WJ, Lee J, Kim GB., 2011. Temporal and geographical trends in the genotoxic effects of marine sediments after accidental oil spill on the blood cells of striped beakperch (Oplegnathus fasciatus). Marine Pollution Bulletin, 62 (10), 2264-2268.
[13] Pampanin, DM., Sydnes, MO. 2013. Polycyclic aromatic hydrocarbons a constituent of petroleum: Presence and influence in the aquatic environment. Intech. Hydrocarbons (Chapter 5). ISBN 978-953-51-0927-3, DOI: 10.5772/48176.
[14] MOE (Ministry of the Environment), 1997. Scientific Criteria Document for Multimedia Standards Development. Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAH). Part1: Hazard Identification and Dose-Response Assessment. Ministry of the Environment, Toronto, Ontario.
[15] Cal EPA (California Environmental Protection Agency), 1993. Benzo[a]Pyrene as a Toxic Contaminant. Part B Health Assessment. California Environmental Protection Agency, August 1993.
[16] ] Evaluating the toxicity and assessing the carcinogenic risk of environmental mixtures using toxicity equivalency factors. Washington State Department of Ecology.(https://fortress.wa.gov/ecy/clarc/FocusSheets/tef.pdf).
[17] Nfon E., Cousins IT., Broman D., 2008. Biomagnification of organic pollutants in benthic and pelagic marine food chains from the Baltic Sea. Science of The Total Environment, 397 (1–3), 190-204.
[18] D’Adamo R., Pelosi S., Trotta P., Sansone G., 1997. Bioaccumulation and biomagnification of polycyclic aromatic hydrocarbons in aquatic organisms. Marine Chemistry, 56 (1–2), 45-49.
ที่มา manager.co.th