แนวทางประเมินความเสียหายน้ำมันรั่วในอ่าวไทย
Share this post on: Twitter Facebook
บทความตอนนี้ผู้เขียนจะมาวิเคราะห์ต่อถึงแนวทางการประเมินความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของน้ำมันดิบในอ่าวไทย”
แนวความคิดของเจมส์เลิฟล็อค (James Lovelock) [1-2] เปรียบโลกใบนี้เหมือนกับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ซึ่งมีระบบการทำงานที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน อันเป็นที่มาของสมมุติฐานไกอา หรือ กาย่า (Gaia Hypothesis) ซึ่งคำว่า “ไกอา” เป็นภาษากรีกแปลว่า “เทพีแห่งโลก” หากจะขยายความต่อก็คือสมมุติฐานทางนิเวศวิทยาที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง “ชีวมณฑล” หรือ ไบโอเสฟียร์ กับ “องค์ประกอบทางกายภาพที่ไร้ชีวิต” เช่น เปลือกโลกชั้นบรรยากาศมหาสมุทรรวมทั้งพื้นที่แถบขั้วโลกเหนือและใต้และในสภาวะปกติปฏิกิริยาต่อกันระหว่าง “สิ่งมีชีวิต” กับ “สิ่งไม่มีชีวิต” จะก่อให้เกิดภาวะสมดุลผ่านกลไกในการควบคุมตัวเอง (Self Regulating System) [3]
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือหากเรามองโลกใบนี้ในภาพรวมทั้ง “สิ่งมีชีวิต” และ “สิ่งไม่มีชีวิต” ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันและหากมีสิ่งใดมากระทบกับสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งสองสิ่งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเมื่อใดก็ตามที่ “ธรรมชาติป่วย” มนุษย์ก็จะเริ่มป่วยตามดังเช่นตำนานเล่าขานในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมหนังสืออพยพบทที่ 7-13 ได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าได้มีพระบัญชาให้โมเสสและอาโรนเข้าเฝ้าฟาโรห์เพื่อทูลขอให้ทรงปล่อยวงศ์วานอิสราเอลเป็นไท แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากฟาโรห์
พระเจ้าจึงได้มอบภัยพิบัติให้แก่อียิปต์ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของ ฝูงตั๊กแตน กบ ริ้น เหลือบ การล้มตายของฝูงสัตว์ การมรณกรรมของบุตรหัวปีชาวอียิปต์ รวมทั้งการที่แม่น้ำ ลำคลอง และบึงต่างๆในราชอาณาจักรกลายเป็นโลหิต จนทำให้มีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากและกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวอียิปต์เนื่องจากไม่สามารถดื่มน้ำในแม่น้ำได้
น่าเสียดายที่ยุคสมัยนั้นยังไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) หรือการประเมินสภาพเศรษฐกิจสังคมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Socio-economic and Environmental Impact Assessment: SEIA) เราจึงไม่อาจประเมินความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน แต่คงไม่ใช่การใช้จินตนาการที่เกินขอบเขตหากจะเชื่อมโยงการปนเปื้อนของโลหิตในแม่น้ำไนล์ให้เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ทำให้ฟาโรห์ตัดสินพระทัยในการมอบอิสราภาพให้กับชาวอิสราเอลซึ่งมูลค่าของความเป็น “ไท” ที่พวกเขาได้รับก็มิอาจประเมินในเชิงปริมาณได้เช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นอีกหลายพันปีให้หลัง มนุษย์เริ่มที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีในการขุดเจาะเอาน้ำมันดิบซึ่งถูกกักเก็บอยู่ในชั้นธรณีวิทยาใต้ผิวโลกขึ้นมากลั่นและแยกเป็นเชื้อเพลิงชนิดต่างๆเพื่อสนองความต้องการทางด้านพลังงานซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยระบบทุนนิยม นอกจากก๊าซเรือนกระจกซึ่งถูกปลดปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศขณะที่เกิดการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว [4] มนุษย์ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการสัมผัสสารก่อมะเร็ง [5] สารก่อการกลายพันธุ์ [6] และโลหะหนัก [7] ซึ่งเกิดขึ้น
ทันทีที่มีการเผาไหม้ของไฮโดรคาร์บอนรวมทั้งการปนเปื้อนของสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ระบบนิเวศทางทะเลจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบตามแท่นขุดเจาะหรือเรือบรรทุกน้ำมัน [8-10] เมื่อเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบเข้าสู่ทะเลแล้วนอกจากสัตว์น้ำในระบบนิเวศ ประชาชนผู้อยู่อาศัยรอบบริเวณที่มีการปนเปื้อนคือกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยสูตรคำนวณการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายและครอบครัวที่ควรได้รับการเยียวยานั้นมีอยู่หลากหลาย
เช่น ผลงานวิจัยของ Catherine J. Grey จาก The International Tanker Owners Pollution Federation Limited (ITOPF) ได้มีการสำรวจข้อมูลการรั่วไหลของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเช่น น้ำมันดิบ น้ำมันเตา ยางมะตอย และ น้ำมันหล่อลื่น จากอุบัติเหตุการรั่วไหลที่เกิดขึ้นทั้งหมด 65 ครั้งทั่วโลก พบว่าจำนวนเงินที่กองทุน IOPC (The International Oil Pollution Compensation Fund 1992) ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลระหว่างประเทศจัดตั้งโดยรัฐภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศ FUND 1992 [11] มีแนวโน้มแปรผันตามปริมาณของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่รั่วไหลออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
แปลไทยให้เป็นไทยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือยิ่งปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันดิบมากเท่าไหร่ จำนวนเงินที่กองทุน IOPC จะต้องชดเชยให้กับประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อนึ่งกองทุน IOPC ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากองค์กร หรือหน่วยงานในประเทศสมาชิกที่รับน้ำมัน ซึ่งได้ขนถ่ายทางทะเลโดยมีอัตราค่าธรรมเนียมตามปริมาณและชนิดของน้ำมัน และจะชดเชยความเสียหายให้กับเฉพาะประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนสำหรับการชดใช้ความเสียหายจากภาวะมลพิษน้ำมันพ.ศ. 2514 (IOPC Fund)เท่านั้น
ผู้เขียนได้ลองนำเอาข้อมูลของ Grey มาพยากรณ์จำนวนเงินที่บริษัทผู้รับผิดชอบควรจ่ายชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวไทยเมื่อเช้าวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศกับกองทุน IOPC ด้วยสมการถดถอยเชิงเส้นแบบง่าย(Simple Linear Regression) โดยกำหนดให้ตัวแปรอิสระ (X) คือ “ปริมาณรั่วไหลของน้ำมันดิบ (ตัน)” และตัวแปรตาม (Y) คือ “จำนวนเงินที่ต้องชดเชย(สหดอลลาร์สหรัฐอเมริกา)” จากการสำรวจของอุบัติเหตุการรั่วไหลทั้งหมด 65 ครั้งทั่วโลกพบว่าตัวแปร X ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อตัวแปร Yโดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ยกกำลังสอง หรือ R 2 อยู่ที่ 0.77 โดยมีค่าความชัน (Slope) และค่าจุดตัดแกน Y (Intercept) อยู่ที่ 689 และ 4,350,639 ตามลำดับดังที่ได้แสดงไว้ในสมการที่ 1
Y = 689X + 4,350,639
สมการที่ 1
เมื่อนำเอาปริมาณการรั่วไหลที่ทาง PTTGC ได้แถลงการณ์ไว้ที่ 50 ตัน แทนค่าลงในสมการที่ 1 จะได้ค่าชดเชยอยู่ที่ 4,385,089 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากข้อมูลนี้ได้ทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2540 จึงต้องมีการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ โดยใช้ค่าดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) หมายถึงตัวเลขทางสถิติ ที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า และบริการที่ครอบครัวหรือผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ จากสำนักงานสถิติแรงงานกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics, US Department of Labor) ในช่วงปี พ.ศ. 2456-2556 พบว่าเมื่อมีการปรับค่าชดเชยให้เป็นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 จำนวนเงินชดเชยจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,379,662 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 200,193,677 บาท อย่างไรก็ตามแนวความคิดนี้ยังมีจุดบกพร่องอยู่หลายประการ
เช่น
1. การคำนวณยึดตามฐานข้อมูลที่มากจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งรวมเอา น้ำมันเตา ยางมะตอย และ น้ำมันหล่อลื่นเข้าไปด้วย ไม่ได้มาจากน้ำมันดิบอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนมูลค่าการชดเชยของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแต่ละชนิดย่อมแตกต่างกัน
2. การพยากรณ์โดยใช้สมการถดถอยเชิงเส้นแบบง่ายมีค่าความไม่แน่นอนรวมอยู่ด้วยซึ่งอาจส่งผลต่อความคลาดเคลื่อนของตัวเลข
3.ตามหลักสถิติจำนวนตัวอย่างเพียงแค่ 65 ชุดอาจไม่เพียงพอต่อการนำมาพยากรณ์จำนวนเงินชดเชยในกรณีของการรั่วไหลน้ำมันดิบในอ่าวไทย
4. มีความเป็นไปได้สูงที่ตัวเลขการรั่วไหลของน้ำมันดิบอาจสูงกว่า 50 ตัน ส่งผลให้มูลค่าที่ต้องชดเชยอาจสูงกว่า 200 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีตัวแปรทางด้านเศรษฐศาสตร์อื่นที่คงต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาประเมินซ้ำ เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักเคมีวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มีองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นตัวเลขการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องชดเชยอาจต้องมีการปรับแก้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการอีกรอบ
ลองหันมาดูผลงานของนักวิชาการไทยดูบ้าง ผู้เขียนได้ลองสืบค้นข้อมูลดูพบว่า ทางกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการจัดทำคู่มือการประเมินความเสียหายจากระบบนิเวศและทะเลจากน้ำมันรั่วไหล (ISBN 974-9878-21-3) ขึ้นมาเป็นรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร ในปี พ.ศ.2548 [12] โดยได้มีการนำเสนอแนวความคิดการประเมินค่าความเสียหายโดยใช้ค่าเฉลี่ยจากฐานข้อมูลโดยแบ่งตามกิจกรรมดังนี้
กรณีศึกษาที่ 1: กิจการให้เช่าเตียงผ้าใบ
สำหรับกรณีที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้
จำนวนเงินค่าชดเชย = รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อตัวต่อวันของเตียงผ้าใบในแต่ละหาด Xจำนวนเตียงผ้าใบ X จำนวนวันที่มีการปนเปื้อนของคราบน้ำมัน
สมการที่ 2
สำหรับกรณีที่ยังคงดำเนินกิจการได้บางส่วนแต่มีรายได้ลดลง
จำนวนเงินค่าชดเชย = รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อตัวต่อวันของเตียงผ้าใบในแต่ละหาดที่ลดลง X จำนวนเตียงผ้าใบ X จำนวนวันที่มีการปนเปื้อนของคราบน้ำมัน
สมการที่ 3
กรณีศึกษาที่ 2: การประมง
จำนวนเงินค่าชดเชย = (รายได้/เที่ยว) X จำนวนวันทำการประมง X จำนวนเรือ
สมการที่ 4
กรณีศึกษาที่ 3: การท่องเที่ยว
จำนวนเงินค่าชดเชย = (ค่าใช้จ่าย/วัน) X จำนวนวันที่พัก X จำนวนนักท่องเที่ยว
สมการที่ 5
นอกจากนี้ในคู่มือการประเมินความเสียหายจากระบบนิเวศและทะเลจากน้ำมันรั่วไหลได้มีการเสนอให้มี การประเมินมูลค่าความเสียหายต่อทรัพยากรทางธรรมชาติโดยครอบคลุมในทุกมิติ เช่น การปนเปื้อนของน้ำมันดิบอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ในกรณีที่เกิดการรั่วไหลบนบก การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายด้วยกันทั้งสิ้น
โดยกรอบแนวความคิดจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น จำนวนเงินที่ต้องชดเชยควรรวมมูลค่าความเสียหายของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งสามารถคำนวณได้โดยการเทียบเคียงราคาผ่านระบบตลาด (Market-based Technique) การเทียบเคียงส่วนเพิ่มผลผลิต (Marginal Effect on Production) หรือการเทียบเคียงกับการลงทุน (Cost-based Technique) นอกจากนี้บริษัทผู้รับผิดชอบควรคิดรวมการประเมินมูลค่าความเสียหายด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน ที่อยู่อาศัยรอบบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
“แม้เงินอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง และมีอีกหลายสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเงิน แต่อย่างน้อยที่สุดการชดเชยที่เป็นธรรมตามหลักสากลซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสมควรจะได้รับจากบริษัทผู้รับผิดชอบคือก้าวแรกของการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม เพื่อการยกระดับมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมโดยแท้จริง”
อ้างอิง
[1] Lovelock, J.E. (1 August 1972). “Gaia as seen through the atmosphere”. Atmospheric Environment (1967) (Elsevier) 6 (8): 579–580. doi:10.1016/0004-6981(72)90076-5. ISSN 1352-2310.
[2] Lovelock, James E.; Margulis, Lynn (1 February 1974). “Atmospheric homeostasis by and for the biosphere: the Gaia hypothesis”. Tellus. Series A (Stockholm: International Meteorological Institute) 26 (1–2): 2–10. doi:10.1111/j.2153-3490.1974.tb01946.x. ISSN 1600-0870. Retrieved 20 October 2012.
[3] Schwartzman, David (2002). Life, Temperature, and the Earth: The Self-Organizing Biosphere. Columbia University Press. ISBN 0-231-10213-5.
[4] Lindeburgh, Michael R. (2006). Mechanical engineering reference manual for the PE Exam. Belmont CA: Professional Publications. ISBN 978-1-59126-049-3.
[5] ChHüglin, L Scherrer, ChGaegauf, H Burtscher. 1995. Gas to particle partitioning of PAHs in wood combustion exhaust. Journal of Aerosol Science.26, Supplement 1, S671-S672.
[6] R.A.M. Heidemann. 1987. Investigations on the mutagenic effect of combustion motor exhaust components. Mutation Research/Environmental Mutagenesis and Related Subjects. 182 (5), 282-283.
[7] Krzysztof Labus. 1995. Heavy-metal emissions from coal combustion in Southwestern Poland. Energy. 20 (11), 1115-1119.
[8] Marcos Pérez-López, Francisco Cid, Ana Lourdes Oropesa, Luis EusebioFidalgo, Ana LópezBeceiro, Francisco Soler. 2006. Heavy metal and arsenic content in seabirds affected by the Prestige oil spill on the Galician coast (NW Spain). Science of The Total Environment.359 (1–3), 209-220.
[9] Paul E. Rosenfeld, Lydia G.H. Feng. 2011. 5 – The Petroleum Industry. Risks of Hazardous Wastes, 57-71.
[10] Jo Ellen Hose, Evelyn D Brown. 1998. Field applications of the piscine anaphase aberration test: lessons from the Exxon Valdez oil spill.
Mutation Research/Fundamental and Molecular Mechanisms of Mutagenesis. 399 (2), 167-178.
[11] Claims Manual, The International Oil Pollution Compensation Fund, November, 1992.
[12] โครงการการจัดทำคู่มือการประเมินความเสียหายจากระบบนิเวศและทะเลจากน้ำมันรั่วไหล รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2548 (ISBN 974-9878-21-3)
ที่มา: manager.co.th